ค่าระวาง (Freight Charge)
ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่กำลังเริ่มสนใจส่งออกหรือนำเข้าสินค้า คำนี้อ่านแล้วอาจจะไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่แล้วก็มักจะพูดทับศัพท์กันว่า ค่าเฟรท
ง่าย ๆ ก็คือ ค่าส่งของนั่นล่ะครับ
แล้วค่าส่งของประมาณกี่บาทกันล่ะ คำตอบก็ขึ้นอยู่กับว่าส่งออกไปท่าเรือหรือเมืองท่าไหน (Port of Destination) ประเทศอะไร ส่งสินค้าเมื่อไหร่ เดือนไหน วันนี้เรามีวิธีการคำนวณค่าระวางการขนส่งสินค้าทางเรือและเครื่องบินแบบง่าย ๆ มาบอกเพื่อให้คุณได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้คร่าว ๆ ครับ
การขนส่งสินค้าทางเรือ (Sea Freight)
การขนส่งสินค้าทางเรือด้วยตู้คอนเทนเนอร์นั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
– FCL (Full Container Load) คิดค่าระวางตามจำนวนตู้
– LCL (Less Container Load) คิดค่าระวางตามลูกบาศก์เมตร (CBM) หรือน้ำหนักปริมาตร (Weight Ton) โดยค่าไหนมากกว่าจะใช้ค่านั้นในการคิดค่าระวาง
ตัวอย่างการคำนวณ (กรณี Less Container Load)
ถ้าเราต้องการส่งสินค้า 1 ล๊อตซึ่งมีจำนวน 30 กล่อง น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อกล่อง ขนาดของแต่ละกล่องคือ กว้าง 50 x ยาว 50 x สูง 90 ซม. ส่งจากท่าเรือกรุงเทพฯ ไปท่าเรือเซี่ยงไฮ้ โดยมีอัตราค่าระวาง USD10/CBM (Cubic meter)
วิธีการคำนวณ
1. คำนวณปริมาตรหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร
ลูกบาศก์เมตร (CBM) = จำนวนสินค้า(กล่อง) x ปริมาตรลูกบาศก์เมตรต่อกล่อง
= 30 x [(50 x50x90)/1,000,000] (หาร 1,000,000 เพื่อแปลงหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร)
= 30 x 0.225
= 6.75 CBM
2. คำนวณน้ำหนักสินค้าหน่วยเป็นตัน
Weight ton = จำนวนของ x น้ำหนักสินค้าจริงต่อกล่อง (ตัน)
= 30 x (50/1,000) (หาร 1,000 เพื่อแปลงหน่อยเป็นตัน)
= 1.50 Ton
3. เปรียบเทียบปริมาตร CBM กับ Weight ton
จากการคำนวณ CBM มีค่ามากกว่า Weight ton ดังนั้น จึงใช้ CBM ในการคิดค่าระวาง
ค่าระวาง = อัตราค่าระวาง/CBM x ปริมาตรของหน่วยเป็น CBM
= USD 10 x 6.75
= USD 67.5
**เพราะฉะนั้น จะต้องชำระค่าระวางสินค้า USD 67.5**
การขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight)
การคิดคำนวนค่าระวางการขนส่งสินค้าทางอากาศ แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ
– การคิดจากน้ำหนักรวมที่ชั่งได้ (Actual Weight/Gross Weight)
– การคิดจากปริมาตรความจุ (Volume Weight)
โดยนำค่าทั้งสองมาเปรียบเทียบว่าค่าไหนมากกว่า ก็จะใช้ค่านั้นในการคิดค่าระวาง
ค่าระวาง = อัตราค่าระวาง x น้ำหนักสินค้า (ที่ได้รับจากการเปรียบเทียบ)
ตัวอย่างการคำนวณ
ถ้าต้องการส่งสินค้าจำนวน 20 กล่อง น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อกล่อง ขนาดกล่องละ กว้าง 80 x ยาว 60x สูง 50 ซม. จากกรุงเทพฯ ไปสิงค์โปร์
อัตราค่าระวาง มีดังนี้ น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัม ๆ ละ 60 บาท น้ำหนักตั้งแต่ 250 กิโลกรัม ๆ ละ 50 บาท
วิธีคำนวณ
1. คำนวณน้ำหนักสินค้าจริง (Actual Weight)
Actual Weight = จำนวนสินค้า x น้ำหนักต่อกล่อง
= 20 x 50 = 1,000 กิโลกรัม
2. คำนวณ Volume Weight ของสินค้า
Volume Weight = จำนวนสินค้า x ปริมาตรของกล่อง (กว้าง x ยาว x สูง) (ซม.) / 6,000
= 20 x (80 x60 x50) / 6,000
= 800 กิโลกรัม
** สูตรจำได้ง่ายของ Volume Weight คือ ลูกบาศก์เซนติเมตร หาร 6,000**
3. เปรียบเทียบน้ำหนักสินค้าจริง กับ Volume Weight
จากการคำนวณ Actual Weight มากกว่า Volume Weight ดังนั้น จึงใช้ Actual Weight ในการคิดค่าระวาง โดยอัตราค่าระวาง จะใช้ราคาน้ำหนักตั้งแต่ 250 กิโลกรัม ๆ ละ 50 บาท
ค่าระวาง = อัตราค่าระวาง x น้ำหนักสินค้า
= THB 50 x 1,000 kg = THB 50,000
เพราะฉะนั้นต้องชำระค่าระวางสินค้า 50,000 บาท
สอบถามข้อมูลด้านการส่งออก-นำเข้าเพิ่มเติมได้ที่
Tel : +66 2 249 0280-5
Website : http://www.march.co.th
Facebook : https://www.facebook.com/marchlogistics
E-Mail : sales@march.co.th